
เก้าอี้ทำงาน เพื่อสุขภาพ – ในยุคสมัยที่วิถีการใช้ชีวิตและการทำงานเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากวิกฤตโรคภัย หรือไลฟ์สไตล์การทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเสมอไป ทำให้หลาย ๆ คนใช้เวลาทำงานจากที่บ้านกันมากขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบ้านจะมีเก้าอี้ทำงานแบบเป็นจริงเป็นจัง การนั่งทำงานบนเก้าอี้ทานอาหารหรือนั่งบนเตียงเป็นครั้งคราวอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้านั่งทำงานยาวๆ ทั้งวันต่อเนื่องทุกวันคงไม่เหมาะ และส่งผลเสียต่อสุขภาพกายในระยะยาว ดังนั้นการหาเก้าอี้ทำงานที่ดีถือเป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย
4 เหตุผลที่ควรเปลี่ยนมาใช้ เก้าอี้ทำงาน เพื่อสุขภาพ
- พนักพิงศีรษะสามารถปรับมุมและหมุนได้ตามต้องการ
ส่วนของพนักพิงศีรษะนั้นนับว่าเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างระหว่าง เก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพ และเก้าอี้ทั่ว ๆ ที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากพนักพิง ของเก้าอี้สุขภาพส่วนใหญ่ จะมีลักษณะที่สามารถ ปรับรูปตามการขยับของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเงยขึ้น หรือเงยลงก็ทำได้ไม่ยาก จุดนี้เองเพื่อเป็นการลดอาการปวดคอ จากการก้มหน้ามอง คอมพิวเตอร์ หรือการเล่นโทรศัพท์ เป็นเวลานาน ๆ โดยอาการปวดคอ ที่ว่านี้จะทำให้ลักษณะ การนั่งของเราผิดเพี้ยนไป กล่าวคือ ช่วงคอจะมีการยื่น ไปข้างหน้าโดยอัตโนมัติ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือนั่งคอยื่น คนส่วนใหญ่มี พฤติกรรมแบบนี้ โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ โต๊ะทำงานส่วนใหญ่มัก จะไม่สามารถปรับความสูง ขึ้นลงได้ ดังนั้นการเลือกเก้าอี้สุขภาพดี ๆ สักตัวจึงคุ้มค่าที่จะลงทุน - พนักพิงเก้าอี้สุขภาพจะบังคับให้เรานั่งหลังตรงตลอดเวลา
เมื่อพูดถึงคำว่า บังคับ หลายคนอาจจะรู้สึกไม่ดี แต่ในแง่บริบทนี้ อย่างที่ได้พูดไป ในข้อที่แล้วว่า คนเรามักจะมีพฤติกรรมการนั่งผิด ๆ แบบไม่รู้ตัว ซึ่งแม้ว่าจะบอกตัวเองว่า ฉันจะเปลี่ยนท่านั่ง ๆ แต่จนแล้วจนรอด ความเคยชินก็ทำให้เรากลับมานั่งท่าผิด ๆ เหมือนเดิม ดังนั้นพนักพิงของเก้าอี้สุขภาพนี่แหละที่จะบังคับให้คุณนั่งหลังตรงโดยที่คุณจะไม่รู้สึกว่าถูกบังคับเลย เนื่องจากเก้าอี้สุขภาพถูกออกแบบมาให้มีลักษณะพนักพิงที่โค้ง เป็นรูปตัว S มีพนักพิงที่กว้างเพื่อปรับลักษณะของแผ่นหลังให้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง ลดแรงกดต่อหมอนรองกระดูก รวมถึงลดภาระการทำงานของกระดูกสันหลังลงได้ด้วย รวมถึงอาการหลังค่อมก็จะดีขึ้น - เบาะรองนั่งที่มาพร้อมฟังก์ชั่นพิเศษ
เคยเป็นไหม ทำไมเวลานั่งเก้าอี้บางตัวนาน ๆ แล้วเมื่อยก้น แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้เก้าอี้สุขภาพ คำถามนี้จะเกิดขึ้นในหัวของคุณเลย เก้าอี้สุขภาพที่ดีจะถูกออกแบบมาเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้อาการปวดเมื่อยล้าจึงไม่พบหากนั่งบนเก้าอี้สุขภาพนั่นเอง โดยเบาะรองนั่งของเก้าอี้สุขภาพต่างกับเก้าอี้ทั่วไปตรงที่สามารถเลื่อนปรับเบาะไปข้างหน้าได้ เหมือนอย่างกับเบาะรถยนต์ ช่วยส่งให้หลังส่วนล่างแนบไปกับเก้าอี้ได้ดียิ่งขึ้น มีความโค้งเว้ารูปตัว S การนั่งแบบนี้จะมีลักษณะคล้ายกับหลังในท่ายืน นั่นจะช่วยลดแรงกดของหมอนรองกระดูกสันหลังและอาการกดทับบริเวณใต้เข่าลงได้ ซึ่งเบาะของเก้าอี้สุขภาพที่ดีจะมีลักษณะเอียงมาทางด้านหน้า เบาะไม่ลึกมาก เพื่อลดการกดของขอบหน้าของเบาะกับด้านหลังของสะโพก และเบาะควรมีขนาดใหญ่มากพอที่จะสามารถนั่งได้อย่างเต็มก้น - อวัยวะที่ 34 ในการทำงาน
หากโทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่ 33 เก้าอี้สุขภาพก็ควรเป็นอวัยวะที่ 34 ที่สำคัญในการทำงานเหมือนกัน เพราะเราอาจจะใช้เวลาเกือบจะทั้งวันนั่งอยู่บนเก้าอี้เพื่อทำงาน หลายครั้งก็ไม่สามารถที่จะขยับเพื่อลุกขึ้นเดินไปไหนได้บ่อย ๆ การแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมาใช้เก้าอี้สุขภาพจึงตอบโจทย์ที่สุด
เมื่อต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานเสี่ยงที่จะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)
อาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ไม่ใช่คำเรียกของโรค แต่เป็นกลุ่มอาการหลายๆ อย่างที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมาะสม เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง และเข่า จากการนั่งทำงานผิดท่านานๆ หรือปวดศีรษะ จากการนั่งจ้องจอคอมนาน
การนั่งทำงานนานแบบผิดท่าอาจทำให้กล้ามเนื้อหดตัว กล้ามเนื้ออักเสบ หรือกล้ามเนื้อฉีดขาด รวมถึงการจ้องจอคอมพิวเตอร์นานจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวหรือดวงตา ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบบ่อยในผู้ที่เป็นพนักงานออฟฟิศ จึงเรียกโดยรวมว่ากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม
นอกจากพฤติกรรมซ้ำเดิม การนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนาน ๆ โดยไม่มีการขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง การนั่งทำงานด้วยท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือนั่งเก้าอี้ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เก้าอี้เตี้ยหรือสูงเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
นอกจากนี้การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานจนเกินไป การเพ่งใช้สายตานานๆ การปรับแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสม รวมถึงการทำงานหนักเกินไป พักผ่อนน้อย ความเครียดและวิตกกังวลก็เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเช่นกัน
อาการออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง?
อาการส่วนใหญ่ของกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมอาจแตกต่างกันไป ขึ้นกับแต่ละบุคคล โดยอาการส่วนใหญ่มีดังนี้
- ปวดเมื่อยหรือเกร็งตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น คอ บ่า ไหล่ หลัง ต้นคอ แขน ข้อมือ นิ้วมือ เกิดจากการนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ กล้ามเนื้อหดเกร็งมากเกินไป อาจรุนแรงขึ้นและกลายเป็นอาการเรื้อรัง
- เจ็บ ตึง หรือชาตามอวัยวะต่างๆ เรื้อรัง เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ มีเอ็นอักเสบทับเส้นประสาท หรือเส้นประสาทตึงตัวจนกลายเป็นอาการชาตามมือ แขน เส้นยึด และนิ้วล็อกในที่สุด
- เหน็บชา แขนขาอ่อนแรง เกิดจากนั่งนานเกิดไปทำให้กดทับเส้นประสาท การไหลเวียนเลือดผิดปกติ มักมีอาการชาบริเวณนิ้วกลาง นิ้วนาง หรือปวดบริเวณข้อมือ
- นิ้วล็อก เกิดจากการจับเมาส์หรือใช้นิ้วมือกดโทรศัพท์มือถือในท่าเดิมระยะเวลานานๆ มีอาการเส้นเอ็นอักเสบหรือปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมืออักเสบ ทำให้เส้นเอ็นหนาขึ้นและไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ตามปกติ
- ปวดศีรษะ มีอาการปวดตุ๊บๆ คล้ายไมเกรน อาจปวดร้าวไปถึงตา เกิดจากการใช้สายตาในการทำงานมาก ร่วมกับมีความเครียดสะสม วิตกกังวล และพักผ่อนไม่เพียงพอ
- นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท อาจเกิดจากความเครียด หรืออาการปวดเมื่อยหรือปวดหัวที่รบกวนเวลานอนเป็นระยะ
ในระยะแยกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย และจะหายไปเมื่อได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือปรับท่านั่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นรบกวนการทำงาน
การปรับท่านั่งเพื่อป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม
สำหรับคนทำงานและพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ยากที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดตามคอ บ่า ไหล่ หลัง และเข่า ดังนั้นการปรับเก้าอี้และท่านั่งให้ถูกสุขลักษณะจะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอาการปวดต่างๆ ได้
1. ควรปรับระดับเก้าอี้ให้พอดีกับส่วนสูงของตัวเอง
ระดับความสูงของเก้าอี้ที่พอดี จะทำให้ไม่ต้องก้มหรือเงยมากเกินไป ทำให้สรีระอยู่ในทิศทางที่ผิดรูปแบบและส่งผลให้เกิดอาการปวด สำหรับการปรับระดับเก้าอี้ควรให้เหมาะพอดีกับส่วนสูง โดยให้เข่าสามารถงอได้ 90 องศา เท้าวางระนาบและทิ้งน้ำหนักได้เท่ากันกับขาทั้งสองข้าง
2. ปรับเลื่อนเบาะรองนั่งให้เข่าทำมุม 90 องศา
นอกจากระดับความสูงแล้ว การปรับเลื่อนเบาะรองนั่งให้พอดีก็สำคัญ ควรปรับให้เบาะรองนั่งมีระยะห่างระหว่างข้อพับเข่ากับเบาะรองนั่งประมาณ 2-3 นิ้ว โดยที่เข่ายังทำมุม 90 องศาอยู่
3. ปรับระดับที่วางแขนให้พอดีกับโต๊ะทำงาน
ที่พักแขนหรือที่วางแขนควรพอดีกับโต๊ะทำงาน เพราะการวางสรีระของแขนที่ถูกต้องจะช่วยลดอาการเกร็งของคอ บ่า ไหล่ ได้เป็นอย่างดี
4. ปรับเบาะรองศีรษะให้พอดีกับคอ
เบาะรองศีรษะจะช่วยให้ลำคอ และศีรษะอยู่ในท่าตรง ลดอาการเมื่อยล้าจากการนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยระดับศีรษะ ระดับสายตา ควรพอดีกับระดับจอของคอมพิวเตอร์ เพื่อไม่ให้ก้มหรือเงยคอมากเกินไป
5. ปรับพนักพิงให้รองรับหลังส่วนล่าง
เก้าอี้ควรสามารถปรับพนักพิงให้รองรับหลังส่วนล่างได้ และต้องปรับเอนเมื่อต้องการพักผ่อนระหว่างวัน
เก้าอี้ทำงานที่ดีควรเป็นอย่างไร?
นอกจากท่านั่งที่ดีแล้ว ก็ควรเลือกเก้าอี้ที่ดีต่อสุขภาพด้วย เพราะหากเก้าอี้ไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลให้การนั่งทำงานในท่าทางที่ผิดสรีระก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามมา และหากนั่งผิดท่านานๆ อาจทำให้เกิดอาการของกลุ่มออฟฟิศซินโดรม ดังนั้นการเลือกเก้าอี้ที่ดีควรเลือกเก้าอี้ที่มีคุณสมบัติดังนี้
- ความสูงเก้าอี้ ควรเท่ากับช่วงความยาวของขาท่อนล่างบริเวณน่อง วางเท้าแล้วราบกับพื้นพอดี แต่ปัจจุบันเก้าอี้ส่วนใหญ่สามารถปรับระดับความสูงให้เหมาะกับการใช้งานตามแต่ละบุคคลได้
- เบาะไม่นุ่มเกินไปหรือเป็นแอ่ง เบาะเก้าอี้ที่นุ่มจนเกินไปหรือเป็นหลุมเป็นแอ่งอาจจะสบายต่อการนั่งชั่วคราว แต่ในระยะยาวอาจส่งผลให้กระดูกเชิงกรานบิดงอได้
- ความลึกของเบาะต้องไม่มากกว่าช่วงต้นขา เพื่อให้นั่งทำงานได้อย่างสบาย
- พนักพิงพอดีกับแผ่นหลัง ควรนั่งให้ก้นชิดกับพนักพิงมากที่สุด เพราะหากนั่งเว้นระยะห่างกับพนักพิงมากเกินไป อาจทำให้เราต้องเอนตัวไปด้านหลังหรือด้านหน้าจะส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามมา
- ระดับที่วางแขนต้องพอดี สามารถงอข้อศอกแล้ววางแขนได้พอดี สามารถใช้ดันให้ตัวยืนตรงและค้ำพยุงเวลาลุกนั่งได้
- ปรับระดับได้ เก้าอี้ในปัจจุบันจะต้องปรับระดับได้หลากหลาย ทั้งความสูง ความต่ำของเบาะ การเอนไปด้านหลัง ความสูงต่ำของที่วางแขน การเอียงเข้าหรือเอียงออก
การลงทุนซื้อเก้าอี้ดี ๆ สักตัวเพื่อซัพพอร์ตสุขภาพของเรา ถือว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนดีนะคะ เพราะหากสุขภาพเราดี เราก็สามารถทำงานต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ให้งอกเงยขึ้นได้
กลับสู่หน้าหลัก – savecyber